ไหลไปกับแรงโน้มถ่วง

- ทรัพยากร
- การทดลอง
- วิชา
- วิศวกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์
- หัวข้อ
- พลังงาน กระบวนการทางวิศวกรรม
- เวลาสำหรับกิจกรรม
- 2-3 ชั่วโมง
ในโครงการนี้ นักเรียนจะได้ออกแบบโครงสร้างขั้นบันได จำลองระบบชลประทานของนาขั้นบันไดในโลกแห่งความเป็นจริง
- บทนำ
-
น้ำที่เราเทจากถังจะไหลลงสู่พื้นตามธรรมชาติของมัน เช่นเดียวกับน้ำในธรรมชาติที่จะไหลจากบนยอดเขาลงสู่พื้นด้านล่างด้วยแรงโน้มถ่วง
ความเร็วของน้ำขึ้นอยู่กับแรงที่กระทำต่อมัน เมื่อเราเทน้ำลงสู่กรวย ส่วนที่เป็นปากกรวยที่กว้างจะถูกเติมจนเต็มอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะน้ำสามารถเคลื่อนที่เร็วขึ้นในพื้นที่กว้าง แต่จะช้าลงเมื่อมันไหลไปสู่คอส่วนที่แคบของกรวย น้ำจะมีแรงส่งที่มากกว่าที่ด้านข้างของกรวยเมื่อไหลผ่านช่องแคบด้านล้าง เพราะขณะที่น้ำกำลังเคลื่อนที่จากส่วนที่กว้างไปยังส่วนที่แคบกว่านั้น แรงดันของน้ำจะเพิ่มขึ้น
ที่พื้นผิวของกระจกหน้าต่าง น้ำฝนจะไหลได้เร็วกว่าบนผนัง นั่นเป็นเพราะน้ำไหลผ่านผนังที่หยาบได้ช้าเนื่องจากแรงเสียดทานของผนัง แรงโน้มถ่วงก็มีผลต่อทิศทางการไหลของน้ำ แรงโน้มถ่วง แรงและแรงเสียดทานล้วนส่งผลต่อแรงดันน้ำและความเร็วในการไหลของน้ำทั้งสิ้น
น้ำมีลักษณะการไหลหลากหลายรูปแบบ การศึกษาวิธีการไหลของน้ำเป็นแขนงหนึ่งของวิชาฟิสิกส์ที่เรียกว่า “พลศาสตร์ของไหล” (fluid dynamics) ในการทดลองนี้ นักเรียนจะได้สังเกตการไหลของน้ำและการเคลื่อนที่ของลูกปัดพลาสติก การทดลองนี้จะช่วยให้นักเรียนได้เข้าใจสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวันและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการทำเกษตรแบบขั้นบันได
นาขั้นบันไดบานาเว ในประเทศฟิลิปปินส์นั้นเป็นการขุดดินเป็นขั้นให้เรียบเพื่อทำนาบนสันเขา ช่วยให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ในเขตภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงชันมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่มีการสร้างโครงสร้างดังกล่าวมาแล้วถึงสองพันปี และแน่นอนว่าสมัยก่อนมันถูกสร้างขึ้นด้วยมือทั้งสิ้น ไม่มีเครื่องมือก่อสร้างอันทันสมัยแบบในปัจจุบันแต่อย่างใด
นาขั้นบันไดรับน้ำจากระบบชลประทาน ซึ่งเป็นการจัดการน้ำเพื่อใช้รดน้ำพืชผ่านขั้นบันได โดยน้ำจะถูกส่งจากบนภูเขาให้ไหลลงผ่านชั้นของที่นาทีละขั้น หมายความว่าระบบดังกล่าวใช้แรงโน้มถ่วงเป็นแรงส่งน้ำ (แรงที่ดึงสสารลงสู่พื้นโลก) เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ด้านล่างของภูเขา
เป้าหมายในการทำโครงงานนี้คือการสร้างแบบจำลองนาขั้นบันไดบานาเว โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในบ้านของเรา (ภาพประกอบที่ 2) นักเรียนจะได้ออกแบบโครงสร้างนาขั้นบันไดเพื่อให้ลูกปัดพลาสติกหรือไม้ไหลลงไปสู่ด้านล่างโดยน้ำ เพื่อจำลองระบบชลประทานในนาขั้นบันใดจริง ลูกปัดนั้นมีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ซึ่งเกิดจากการที่มันมีความหนาแน่น (มวลต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร) น้อยกว่าความหนาแน่นของน้ำ มันถูกดึงให้ไหลไปตามน้ำเนื่องจากน้ำนั้นมีความหนืด หมายความว่ามันมีแรงเสียดทาน (แรงที่ต้านการเคลื่อนที่) อยู่เมื่อมันไหลผ่านหรือล้อมรอบวัตถุอยู่
โครงงานนี้เป็นการจำลองกระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม โดยทั่วไปการสร้างสิ่งประดิษฐ์มักไม่ได้สำเร็จเลยตั้งแต่การออกแบบและการทดลองครั้งแรก จุดมุ่งหมายของโครงงานก็คือสนับสนุนให้นักเรียนได้ลองออกแบบสิ่งประดิษฐ์ ทำการทดสอบและพัฒนาแบบสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วยตนเอง
แทบไม่มีวิศวกรมืออาชีพคนใดที่จะทำสำเร็จได้ตั้งแต่ครั้งแรก
- วัตถุประสงค์หลัก
-
- สร้างแบบจำลองระบบชลประทานนาขั้นบันได โดยใช้น้ำให้ไหลเพื่อส่งลูกปัด ที่จะถูกปล่อยจากด้านบนสุดของแบบจำลองและไหลผ่านแต่ละขั้นลงไปจนถึงด้านล่างสุดของแบบจำลอง
- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติและธรรมชาติของน้ำ
- เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องลักษณะการไหลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ของการทำนาขั้นบันได
- คำถามชี้นำ
-
- อะไรเป็นตัวกำหนดว่าวัตถุจะลอยน้ำหรือไม่
- ระบบชลประทานน้ำของนาขั้นบันไดทำงานได้อย่างไรโดยไม่มีไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัย
- ทำไมน้ำจึงยังคงสภาพเป็นของเหลวได้ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน คุณสมบัติดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไรต่อสิ่งมีชีวิต
- น้ำแข็งที่ลอยน้ำช่วยสัตว์ในธรรมชาติได้หรือไม่ หากใช่ จงอธิบาย